วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

หุ่นกระบอก

หุ่นกระบอก
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของหุ่นกระบอกในสมัยรัตนโกสินทร์จากหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ มีจดหมายลายพระหัตถ์ จากตำหนักปลายเนิน คลองเตย ลงวันที่ 12 กันยายน พุทธศักราช 2479 กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเฉพาะข้อความที่เกี่ยวกับหุ่นกระบอกมีว่า “วันหนึ่งเดินกลับจากบิณฑบาต พอถึงหน้าศาลเจ้าพ่อเสือก็พบคนขอทานตาบอดนั่งร้องเพลงสีซออยู่ข้างถนน ช่างเพราะดีเสียเหลือเกิน ทำนองร้องของแกก็ไพเราะไปในทางร้องและความก็ดีด้วย ส่วนทางซอของแกก็ไพเราะไปในทาง ดนตรี แต่ทั้งสองทางเข้ากันสนิทสนมกลมเกลียวดีเหลือเกิน ทำให้รู้สึกว่าตาสังขารนั้นเป็นคนเลิศประเสริฐมนุษย์ ทางที่แกเล่นก็คือหุ่นกระบอกเรานี่เอง แต่หุ่นกระบอกคนหนึ่งร้อง คนหนึ่งสีซอ”
ประวัติความเป็นมา
“การแสดงหุ่นมีการแสดงกันเกือบทุกชาติ เช่น จีน ชวา มอญ ญี่ปุ่น และฝรั่ง แต่วิธีการประกอบเครื่องกลไกให้ตัวหุ่นกระดิกไปมาและลักษณะตัวหุ่นแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละชาติ” ข้อความนี้นายสงวน อั้นคง กล่าวไว้เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญและความเป็นมาของหุ่นกระบอกของชาติต่างๆ เมื่อศึกษาถึงกำเนิดของหุ่นกระบอก มีหลักฐานให้สันนิษฐานได้ว่ามีการเล่นหุ่นชนิดต่าง ๆ ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เกิดขึ้นในระยะเวลาพร้อม ๆ กัน การเล่นหุ่นในทางตะวันออกมีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ คือมีการเล่นชนิดนี้นานประมาณ 300 ปีถึง 400 ปี ที่ผ่านมา และเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับหลักฐานที่ปรากฏในประเทศทางตะวันตก ในประเทศญี่ปุ่น การเล่นหุ่นเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการแสดงเกิดมีนิทาน นิยายและตำนานที่เล่าถ่ายทอดกันว่าการเล่นหุ่นนั้นเริ่มในประเทศจีนก่อน มุขปาฐะเหล่านี้เป็นแนวคิดอนุมานว่าการเล่นหุ่นจึงแพร่หลายสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียรวมทั้งอินเดียด้วย หลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงได้รับการถ่ายทอดศิลปะการเล่นหุ่นนี้ไปอีกชั้นหนึ่ง การสันนิษฐานประการหลังนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน อาศัยเพียงเรื่องที่เล่าถ่ายทอดด้วยปาก และพิจารณาเปรียบเทียบกับศิลปะวัฒนธรรมอย่างอื่น ๆ ที่โลกได้รับจากอิทธิพลอารยธรรมของจีนละครโน (NO DRAMA) และการแสดงคาบูกิ (KABUKI) มีการค้นพบตัวหุ่นในโรงละครเหล่านี้ในคริสตศตวรรษที่ 17
ผู้ที่ช่วยให้หุ่นกระบอกมีชีวิตยืนยาวมาได้นับเป็นบุคคลสำคัญยิ่งผู้หนึ่ง คือนายเปียก ประเสริฐกุล เริ่มหัดฝึกฝนศิลปะการแสดงเชิดหุ่นกระบอก โดยเข้าร่วมในคณะของ ม.ร.ว. เถาะ พยัคฆเสนา เจ้าของคณะหุ่นกระบอกของไทยคณะแรก นายเปียกเป็นผู้ที่ใฝ่ใจและเกิดความซาบซึ้งในศิลปะการแสดงหุ่นกระบอก มีความมุ่งมั่นที่จะจรรโลงการละเล่นชนิดนี้ จึงคิดสร้างหุ่นกระบอกของตนเองขึ้นเมื่อพ.ศ. 2442 ชื่อว่า “หุ่นกระบอกคณะนายเปียก ประเสริฐกุล” จนเป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทย ต่อมานางชูศรี สกุลแก้วทายาทของนายเปียก ประเสริฐกุลได้ดำเนินกิจการแสดงหุ่นกระบอกต่อมา แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไปมีผลกระทบกระเทือนต่อการแสดง หุ่น ทายาทของนายเปียกจึงตัดสินใจขายหุ่นกระบอกจำนวนหนึ่งให้แก่นายจักรพันธ์ โปษยกฤต ผู้สนใจใคร่ดำรงรักษาสมบัติศิลปะเก่าแก่ของชาตินี้ไว้ ต่อมาหุ่นกระบอกได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุงจนวิจิตรงดงามตระการยิ่งขึ้นกว่าเดิม เท่ากับเป็นการชุบชีวิตหุ่นเหล่านี้ให้กลับฟื้นมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งและได้นำออกแสดงเพื่อการกุศลหลายครั้งได้รับความนิยมเป็นที่ชื่นชมจากผู้ได้ทัศนาทุกครั้งเป็นอันมาก
วิวัฒนาการสร้างหุ่นกระบอก
การสร้างศีรษะของหุ่นกระบอกมีวิธีการคือผู้ที่มีฝีมือทางแกะสลักจะต้องหาไม้สักทองเนื้อดี ไม่มีตาไม้เพราะจะยากแก่การแกะสลัก และการขัดเกลา มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว ความยาวประมาณ 8 นิ้ว แล้วนำมาสลักให้เป็นรูปศีรษะ รูปหน้าตา และลำคอ โดยลำคอมีความยาวประมาณ 3 นิ้ว และเจาะรูไว้ให้กว้างพอที่กระบอกไม้ไผ่รวกจะสอดเข้าได้โดยสะดวก ส่วนรูปหน้าและศีรษะจะยาวประมาณ 4 นิ้ว เมื่อสวมเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนึ่งก็จะได้รูปลำคอที่พอดี เมื่อได้รูป ศีรษะที่ทำด้วยไม้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปจึงทาด้วยรักให้เรียบเกลี้ยงเกลาหลังจากนั้นจึงลงสีขาวเป็นพื้น แล้วเขียนหน้าตาอย่างเช่นตัวละคร เมื่อสีแห้งสนิทดีแล้วจึงแต่งผมสำหรับตัวพระ ใช้สีดำระบายเป็นผม แต่ถ้าเป็นตัวหุ่นละครซึ่งในบทมีผมยาว เช่น เงือก ก็ต้องประดิษฐ์ช้องผมยาวแล้วจึงนำมาประกอบกับศีรษะหุ่นนั้นภายหลัง
สิ่งสำคัญมากสำหรับการตกแต่งส่วนศีรษะของหุ่นกระบอกให้สวยงาม ประณีตคือ เครื่องประดับ ซึ่งต้องทำให้เหมือนของจริงทุกประการ โดยย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง เช่น ตัวพระที่เป็นเจ้าก็จะสวมชฎา ส่วนตัวนางที่เป็นเจ้าจะสวมมงกุฎกษัตรี นอกจากนี้ยังมีกรรณาเจียกจร และตุ้มหูด้วย ส่วนหุ่นกระบอกที่มิใช่เจ้าหรือนางกษัตริย์ก็จะมีเครื่องประดับอื่น เช่น เทริด และรัดแกล้าเป็นเครื่องประดับศีรษะแทน เครื่องประดับเหล่านี้ต้องติดตรึงไว้กับส่วนศีรษะของหุ่นให้แน่นหนา มักติดไว้ตายตัวเพราะป้องกันมิให้หลุดง่ายระหว่างการแสดง
ส่วนที่เป็นลำตัวคือกระบอกไม้ไผ่รวกยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ถึง 2 ฟุต สวมต่อเข้ากับลำคอของหุ่นให้แน่น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ถึง 1 นิ้วครึ่ง มีเรียวไม้ไผ่เล็กๆ อีก 2 อัน ขนาดความยาวเท่าปล้องไม้ไผ่ที่ทำเป็นลำตัว เรียงไม้ไผ่นี้ใช้ติดเข้าที่มือทั้งสองข้างให้แน่นหนาเพื่อจะได้เป็นสิ่งที่ใช้เช็ดมือของหุ่นให้ร่ายรำทำท่าต่างๆ
ส่วนประกอบของหุ่นกระบอกที่ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมดนี้อยู่ภายในเสื้อคลุมไว้ให้มิดชิดวิธีตัดเย็บเสื้อคือผ้าต่วน แพรหรือไหมเนื้อดี มีความหนา ความกว้างประมาณ 2 ฟุต ยาวตั้งแต่ 4 ฟุตถึง 5 ฟุต มาพับครึ่ง ส่วนที่เป็นเส้นพับของผ้า ตรงกึ่งกลางเจาะเป็นช่องวงกลมให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดลำคอของหุ่น ริมสองข้างเย็บตั้งแต่ชายขึ้นมาจนเกือบทั้งร้อยสันทบ ปล่องทิ้งเป็นช่องกว้างพอเหมาะกับข้อมือของหุ่น ถ้าเป็นเสื้อของหุ่นกระบอกตัวนางก็ต้องนำผ้าอีกชิ้นหนึ่งที่มีสีตัดกันมาทำเป็นผ้าห่มนาง โดยทำเป็นสามเหลี่ยมที่ด้านหน้าของตัวเสื้อเสื้อของหุ่นกระบอกจะงดงามมากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่ฝีมือการปัก และการใช้เครื่องประดับให้เข้ากับตัวเสื้อ
การเชิดหุ่นกระบอกและองค์ประกอบที่ช่วยให้การเชิดหุ่นดูงาม
วิธีการเชิดหุ่นผู้เชิดจะนั่งพับเพียบ มือซ้ายถือแกนกระบอก ตัวหุ่นไว้โดยยกให้ตัวหุ่นตั้งตรง การถือแกนไม้ให้มั่นคงแต่ต้องไม่ให้นิ่งอยู่กับที่อย่างเดียว ต้องพยายามให้มีการเอนตัวเคลื่อนไหวตามบทบาทลีลาของเรื่องด้วย ส่วนมือขวาใช้จับเรียวไม้ซึ่งต่อมาจากมือของหุ่นกระบอกทั้งสองข้าง โดยผู้เชิดจะใช้มือขวาบังคับความเคลื่อนไหวมือทั้งสองข้างซึ่งทำหน้าที่เสมือนกลไกให้หุ่นแสดงอาการด้วยมือตามท้องเรื่อง ถ้าหุ่นกระบอกไม่จำเป็นต้องทำอาการด้วยมือทั้งสองข้าง ผู้เชิดอาจนำเรียวไม้ที่ต่อจากมือข้างที่ไม่ต้องแสดงอาการนั้นฝากเหน็บไว้กับนิ้วมือซ้ายของผู้เชิด
1. การกล่อมตัว เป็นพื้นฐานของการเชิดหุ่นเช่นเดียวกับการหัดเขียนก.ไก่ เมื่อหัดกล่อมไหล่หุ่นจากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้าย(โดยหัดกับกระจก)ได้นุ่มนวลดี คือหน้าหุ่นที่ตั้งอยู่บนไหล่จะไม่คว่ำไปหรือหงายไป แต่จะซ้อนหน้าเหมือนตัวละครกำลังกล่อมไหล่
2. การเชิดย้อนมือ คือแทงมือจากขวาไปซ้ายและจากซ้ายไปขวา หรือเรียกว่าป่วนไหล่ โดยระวังไม่ให้หน้าหุ่นคว่ำหรือหงาย มักเชิดในจังหวะ “ตุ๊บ - เท่ง ตุ๊บ – เท่ง”
3. กระทบตัว เหมือนจังหวะ “ยืด – ยุบ” ในท่ารำของโขนละคร
4. โยกตัว ในจังหวะ “ต้อม ต้อมม่า ต้อมต้อม...ตุม ตุม มา ตุม ตุม”
5. เพลงเร็ว คือการรำเพลงในจังหวะ “ตุ๊บ – ทิง ทิง...ตุ๊บ ทิง ทิง”
องค์ประกอบการเล่นหุ่นกระบอกไทย
องค์ประกอบสำคัญของการเล่นหุ่นกระบอกดังนี้
1.โรงหุ่นกระบอก 2. ฉาก 3. เครื่องดนตรีและทำนองเพลง
เครื่องดนตรีจะเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ได้ทั้งนั้น แต่ในวงปี่พาทย์นี้จะต้องมีซออู้ กลองต๊อก – แต๊ง และม้าล่อ เป็นเครื่องดนตรีประกอบด้วย เพลงที่นิยมกันมากสำหรับการแสดงหุ่นกระบอกจนถือเป็นเอกลักษณ์คือการใช้ทำนองเพลง “สังขารา” ซึ่เงป็นทำนองเพลงของ ของโบราณมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับการแสดงหุ่นกระบอก โดยมีซออู้สีเคล้าไปกับการขับร้องเป็นการดำเนินเรื่อง
วิวัฒนาการสร้างหุ่นกระบอก
1. หุ่นที่เชิดหรือแสดงโดยนิ้วมือ
2. หุ่นแบบใช้สายใยชักเชิด
3. หุ่นชนิดใช้แกนกระบอกเป็นลำตัว
4. หุ่นที่มีส่วนประกอบที่เป็นแกนกระบอกและสา
ยใยประสมกัน
การเล่นหุ่นกระบอกในปัจจุบันและแนวทางนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
- คณะหุ่นกระบอกของนายเปียก ประเสริฐกุล ปัจจุบันคุณป้าชูศรี (ชิ้น) สกุลแก้ว บุตรสาวรับมรดกดำเนินการแสดง ต่อมาได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2529
- คณะหุ่นกระบอกของนายบุญรอด ประกอบนิล ศิษย์ของป้าหว่า ประเสริฐกุลบุตรสาวนายเปียก ประเสริฐกุล
- คณะหุ่นกระบอกของแม่เชวง อ่อนละม้าย จังหวัดนครสวรรค์
- คณะหุ่นกระบอกของนายจักรพันธ์ โปษยกฤต จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีความสนใจการประดิษฐ์และการเชิดหุ่นกระบอกอย่างจริงจัง ได้รับการถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นจากคุณครูชื่น และคุณครูวงษ์ รวมสุข หุ่นกระบอกของนายจักรพันธ์มีความสวยงาม วิจิตรบรรจง แสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2518 นายจักรพันธ์ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ในประเทศไทยและในต่างประเทศมีผู้นำเอาหุ่นกระบอกเป็นอุปกรณ์ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เป็นอันมากแทบทุกวิชา เช่น ทางสาขา ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้นำเอาหุ่นกระบอกมาดัดแปลงประยุกต์สร้างขึ้นหลายรูปแบบ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการแสดงหุ่นกระบอกในลักษณะแปลก ๆ ออกไปจากเดิม เช่น การประดิษฐ์หุ่นกระบอกของแผนกวิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น สาเหตุแห่งความนิยมคือหุ่นกระบอกสามารถนำไปแสดงเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในสภาวการณ์ต่าง ๆได้ชัดเจน แจ่มแจ้งทั้งเรื่องที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม หุ่นกระบอกใช้สอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดค่านิยมที่พึงปราถนาในทางศีลธรรม หรือเกิดความซาบซึ้งในพฤติกรรมอันดีงาม (นามธรรม) ขณะเดียวกันหุ่นกระบอกอาจใช้เป็นอุปกรณ์สอนเรื่องเพศศึกษา หรือภูมิศาสตร์เกี่ยวกับวัฏจักรของคน สัตว์ พืช (รูปธรรม) ได้ หุ่นกระบอกจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อวิชาการศึกษาในแง่เป็นอุปกรณ์การสอน
เอกลักษณ์ของภูมิปัญญา
หุ่นกระบอกจะงดงามมากน้อยเพียงใด นอกจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของตัวหุ่นจะได้ มาตราฐานแล้ว เสื้อของหุ่นกระบอกเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งมีวิธีประดิษฐ์ไม่ยากนัก แต่ถ้าใช้ช่างเย็บปักถักร้อยที่มีฝีมือดี ใช้เวลาตัดเย็บนานก็จะได้เสื้อที่สวยงาม การปักเสื้อหุ่นกระบอกนิยมปักโดยใช้สะดึงขึงเสียก่อนแล้วจึงปักด้วยดิ้นทอง ดิ้นเงิน ลูกปัดและเลื่อมถ้าเสื้อเป็นผ้าตาดทองหรือเงินอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องปักด้วยดิ้น โดยลวดลายที่นิยมปักบนเสื้อหุ่นได้แก่ ลายดอกพิกุล ซึ่งเป็นลายปักที่ละเอียดมาก , ลายประจำยาม และกนกเครือเถา ต่าง ๆ ด้วย ถือว่ายิ่งปักได้ละเอียดเท่าใดก็จะยิ่งสวยงามมากขึ้นเท่านั้น ส่วนเครื่องประดับที่ติดอยู่กับตัวเสื้อเช่น กรองคอ ,อินทรธนู สำหรับตัวพระก็นิยมปักด้วยเพชรพลอยให้วูบวาบแพรวพราวเช่นกัน เมื่อหุ่นกระบอกจะถูกนำออกแสดงก็จะสวมเครื่องประดับเช่นละครรำให้แก่หุ่น เช่นสายสังวาลตามทิศทับทรวง เป็นต้น
นอกจากนี้สิ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของการแสดงหุ่นกระบอกมาแต่โบราณคือการใช้ทำนองเพลง “สังขารา” ซึ่งเป็นทำนองเพลงโบราณมาดัดแปลงแก้ไข ให้เหมาะกับการแสดงหุ่นกระบอก โดยสีซออู้ควบคู่ไปกับการขับร้องในการดำเนินเรื่อง
คุณค่าและความเชื่อของภูมิปัญญา
ก่อนการแสดงหุ่นกระบอกเจ้าของคณะต้องนำหุ่นกระบอกตัวพระใหญ่ออกมารำไหว้ครู นอกจากนี้ในการสร้างส่วนที่เป็นศีรษะและหน้าตาของหุ่นกระบอกนั้น ต้องมีพิธีไหว้ครูเบิกเนตรหุ่นด้วย คล้ายกับการประดิษฐ์หัวโขน ถือเป็นสิ่งที่ต้องกระทำจะงดไม่ได้ ดังนั้นการเขียนดวงตาของหุ่นกระบอกจึงทำเป็นขั้นสุดท้าย และต้องทำในพิธีด้วย ซึ่งพิธีไหว้ครูจัดเป็นงานใหญ่ประจำปีปีละครั้ง
เมื่อรับงานแสดงเสร็จแล้วก็จะมีการนำเงินมาซื้อของเซ่นไหว้หุ่นทุกตัว ตัวที่สำคัญคือ “ตัวฤาษี” ดังเนื้อความซึ่งนางชูศรีเรียกว่า “พ่อแก่” เล่าว่า “พ่อแก่นี่ชอบทุเรียน ได้เงินมาก็ต้องซื้อทุเรียนถวาย พ่อเล่าว่าคุณมณีผู้สร้างหุ่นพ่อแก่นี้ใช้ดินจอมปลวกมาปั้นเป็นหัว” อย่างตัวสินสมุทรตัวนี้นี่
กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของหุ่นกระบอกไทย
ในสมัยโบราณท่าทางของหุ่นกระบอกมากมายเช่นท่าออกโรงของหุ่นตัวพระ ตัวยักษ์ และท่าออกฉาก เข้าฉากของหุ่นตัวเอก ๆ ศิษย์จะต้องคอย “ครูพักลักจำ” ให้ได้ เพราะท่าทีบางอย่างของหุ่นสอนกันไม่ได้ นอกจากจะทำให้ดูตามความชำนาญของคูแต่ละคนเท่านั้น ซึ่งคนเชิดหุ่นเป็นมักจะไม่ให้วิชากับใครง่าย ๆ โดยเฉพาะคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกไม่ใช่หลานในวงศ์วานว่านเครือ หากจะให้ก็ต้องสาบานตัวมีสัญญาสาปแช่งต่าง ๆ ด้วยเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างครูหรือเล่นประชัน เป็นการแย่งอาชีพตัดหน้ากันด้วยประการต่าง ๆ
การสะท้อนชีวิตของภูมิปัญญา
จากการศึกษาเรื่องหุ่นกระบอกไทยสมัยโบราณมีความเชื่อเรื่อง” ธงไล่ฝน “ ดังคำสัมภาษณ์นางชูศรี สกุลแก้ว ทายาทนายเปียก ประเสริฐกุล เล่าว่าการเล่นหุ่นกระบอกมีอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งคือฝน “สมัยพ่ออยู่มีธงไล่ฝน เป็นธงสามเหลี่ยมสีขาว มียันต์เก๊าเก่าพอฝนตั้งเค้ามา ออกไปยืนขาเดียวโบกธงไล่ฝนขอให้ผ่านไปก่อน ฟ้ายังงี้สว่างฝนไม่ตกเลยค่ะ พอเลิกเล่นฝนตกลงมาซู่ พวกลิเกยังงี้ยังกลัว”
นอกจากนี้ชีวิตของคนไทยสมัยก่อนต้องเดินทางโดยใช้เรือ เพราะแต่ก่อนไม่มีถนนใช้คลองแทนถนน จากคำสัมภาษณ์ของนางชูศรี สกุลแก้ว กล่าวถึงบางเวลาซึ่งถือว่าเป็น “หน้างาน” มีผู้ว่าจ้างไปแสดงหุ่นกระบอกแทบทุกคืน กล่าวว่า “เรียกว่าไม่ต้องขึ้นจากเรือเลย หุ่นเครื่องอะไร ๆ ก็อยู่ในเรือนี่แหละ เป็นเดือน ๆ เลยหุ่นไม่ได้ขนขึ้นบ้าน จากวัดนี้ไปวัดโน้นเล่นกันแทบทุกคืน”

สรุปและข้อเสนอแนะ
ชาติต่าง ๆ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมย่อมมีการแสดงมหรสพประจำชาติ รวมทั้งการแสดงหุ่นนั้นการละเล่นชนิดนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความเจริญด้วยวัฒนธรรมของชาวไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอารยประเทศใด แม้ว่าผู้ที่ซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมไทย จะพยายามจรรโลงการแสดงหุ่นกระบอกมากว่า 100 ปี ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์จัดทำภาพยนตร์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป หากหน่วยงานหรือสถาบันใดมีความประสงค์ใคร่ชมภาพยนตร์ทั้งสองชุดนี้และเผยแพร่ ก็แสดงความจำนงได้
อนึ่งเพลงที่ใช้ขับร้องประกอบการแสดงหุ่นกระบอกโดยเฉพาะ “เพลงสังขารา” นั้น ถ้าได้มีการศึกษาโดยใช้วิธีศึกษาดนตรีสากล เช่น การเขียนโน้ตสากล ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในแง่ดนตรีและเป็นการช่วยให้การศึกษาเรื่องหุ่นกระบอกกว้างขวาง มีลักษณะเป็นสากลยิ่งขึ้น
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นย่อมพิสูจน์ให้เห็นความรักความหวงแหน และความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติโดยแท้จริง แม้ว่าวันนี้การแสดงหุ่นกระบอกหาดูได้ยากขึ้นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหุ่นที่เชิดเล่นกันในปัจจุบันเป็นหุ่นกระบอกที่มีอายุยาวนานนับร้อยปีจึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การสร้างหุ่นกระบอกขึ้นมาใหม่ก็หาผู้ชำนาญยาก หุ่นกระบอกแต่ละตัวต้องอาศัยทั้งความละเอียดอ่อนและต้องรอบคอบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หุ่นกระบอกตัวพระ” และ “หุ่นกระบอกตัวนาง”